คุณกำลังขาดฮอร์โมนเหล่านี้รึเปล่า ลองสังเกตดู

ฮอร์โมนก็เหมือนกับปุ๋ย ปุ๋ยสำคัญกับต้นไม้เพราะให้แร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ ฮอร์โมนก็ความสำคัญต่อร่างกายเช่นนั้นเหมือนกัน ฮอร์โมนที่เรารู้จักกัน เช่น โกรทฮอร์โมนที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต และฮอร์โมนอื่นๆ ที่ช่วยทำให้ร่างกายทำงานได้อย่างสมบูรณ์ปกติ แต่เมื่ออายุมากขึ้นฮอร์โมนเหล่านี้ก็จะลดลง ไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด ร่างกายเราก็จะเสื่อมสภาพลงไป และมีอาการบ่งบอกว่าร่างกายกำลังขาดฮอร์โมน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าร่างกายเริ่มขาดฮอร์โมนชนิดใด และมีอาการอย่างไร

ฮอร์โมนพื้นฐานที่ควรทำความรู้จัก และอาการเมื่อขาดฮอร์โมนชนิดต่างๆ

• โกรทฮอร์โมน เป็นฮอร์โมนที่ช่วยสร้างและพัฒนาเซลล์ให้เจริญเติบโต ในวัยเด็กโกรทฮอร์โมนจะมีผลต่อการเจริญเติบโต ช่วยเร่งความสูง ส่วนในผู้ใหญ่โกรทฮอร์โมนจะมีส่วนช่วยในการชะลอความชรา ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน ระบบกล้ามเนื้อและการเผาผลาญ
>>อาการที่บ่งบอกว่ากำลังขาดฮอร์โมนชนิดนี้ ถ้าเกิดขึ้นในเด็กจะเห็นได้ชัดว่าเด็กไม่สูงขึ้น ผอมด้วยกล้ามเนื้อไม่เจริญเติบโต ส่วนในวัยผู้ใหญ่ผิวพรรณจะเริ่มเหี่ยวย่น ผมบาง ภูมิคุ้มกันแย่ลง ไม่กระฉับกระเฉง กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง

• ฮอร์โมนเพศหญิง คือ ฮอร์โมนเอสโทรเจนผลิตขึ้นในรังไข่ เป็นฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมการเจริญพันธุ์ และควบคุมลักษณะต่างๆ ของผู้หญิง เช่น การมีหน้าอก ผิวพรรณกระจ่างใสเปล่งปลั่ง เรียกว่าเป็นฮอร์โมนของความสาว นอกจากนี้ในรังไข่ยังผลิตฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน คือ ฮอร์โมนในการตั้งครรภ์ ไว้คอยทำหน้าที่ควบคุมรอบเดือน ให้เป็นปกติ รวมไปถึงควบคุมภาวะตั้งครรภ์
>>อาการที่บ่งบอกว่ากำลังขาดฮอร์โมนเหล่านี้ คือ หากฮอร์โมนเพศหญิงไม่สมดุลสำหรับวัยเจริญพันธุ์ จะทำให้เกิดอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) เช่น สิวขึ้น ท้องอืด อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้าง่าย และอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก สำหรับหญิงวัยกำลังหมดประจำเดือนหรือวัยทอง ฮอร์โมนเพศหญิงจะต่ำลงมาก ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออก ความจำแย่ อารมณ์ฉุนเฉียว กระดูกบาง ผิวเหี่ยว

• ฮอร์โมนเพศชาย คือ เทสโทสเทอโรน มีส่วนช่วยกระตุ้นลักษณะเฉพาะของเพศชาย สิ่งที่แสดงถึงความเป็นชายมากขึ้น เช่น หนวดเครา เสียงทุ้ม กระตุ้นการผลิตไขมันที่ผิวหนัง ช่วยเพิ่มมวลกระดูก
>>อาการที่บ่งบอกว่ากำลังขาดฮอร์โมนชนิดนี้ คือ จะทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง ความแข็งแรงกล้ามเนื้อลดลง การตัดสินใจช้าลง
• ฮอร์โมนไทรอยด์ หรือต่อมไทรอยด์ มีส่วนช่วยในการควบคุมระบบเผาผลาญของร่างกาย ระดับอุณหภูมิของร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ระดับไขมันในเลือด รวมทั้งอารมณ์และความรู้สึก
>>อาการที่บ่งบอกว่ากำลังขาดฮอร์โมนชนิดนี้ คือ จะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม ท้องผูกบ่อย รู้สึกอ่อนเพลียง่าย

• ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต จะผลิตดีเอชอีเอ และคอร์ติซอล คือ ดีเอชอีเอ จะช่วยต้านความเครียด มีส่วนช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกาย กระตุ้นความรู้สึกทางเพศและอาจชะลอความเสื่อมของร่างกาย ฮอร์โมนคอร์ติซอลช่วยต่อสู้กับความเครียดที่ร่างกายสร้างขึ้นมาโดยเฉพาะ และร่างกายจะผลิตฮอร์โมนชนิดนี้ขึ้นมามากๆ เลย ในตอนเช้า เพื่อช่วยให้ร่างกายสร้างพลังงานได้เต็มที่ก่อนใช้ชีวิตในทั้งวัน นอกจากนี้ฮอร์โมนคอร์ติซอลยังมีหน้าที่กระตุ้นความดันโลหิตให้สูงขึ้น ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น เพื่อให้สามารถฝ่าฟันเรื่องต่าง ๆ ระหว่างวันได้ แต่ฮอร์โมนนี้จะถูกลดลงเหลือเพียง 10% เท่านั้นในช่วงเย็น
>>อาการที่บ่งบอกว่ากำลังขาดฮอร์โมนเหล่านี้ คือ หากร่างกายเกิดความเครียดสะสมหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ระดับฮอร์โมนดีเอชอีเอและฮอร์โมนคอร์ติคอร์ติซอลจะต่ำลง ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น ง่วงนอน ขาดความกระตือรือร้น เกิดอาการอ่อนเพลียตลอดทั้งวัน ซึมเศร้า การเผาผลาญในร่างกายลดลง ภูมิต้านทานลดลง

• ฮอร์โมนเมลาโทนิน ทำหน้าที่ช่วยในเรื่องของการนอนหลับพักผ่อน ผ่อนคลาย เพราะจะส่งผลต่อการนอนหลับ ทำให้ร่างกายผ่อนคลาย ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายทำให้ร่างกายสามารถนอนหลับได้ดี โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในความมืดฮอร์โมนนี้จะกระตุ้นออกมาได้ดี
>>เมื่อร่างกายขาดฮอร์โมนตัวนี้จะทำให้นอนหลับยาก นอนหลับไม่ดี หลับไม่ลึก ตื่นไม่สดชื่น